วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

แนวโน้มและทิศทางการประกันคุณภาพการศึกษา

ผู้เขียน ปาลิตา วงค์โปทา

ในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาที่ผ่านมาสถานศึกษามีความตื่นตัวในการรับการประเมินเป็นอย่างมาก ทำให้แนวโน้มของการประกันคุณภาพการศึกษามีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นทุกหน่วยงานมีความพยายามปรับปรุงระบบประกันคุณภาพภายในของตนเอง เพื่อแข่งขันในด้านประสิทธิภาพของหน่วยงาน แนวโน้มและทิศทางในการประกันคุณภาพการศึกษา อาจพอสรุปได้ดังนี้

1.ผู้ประเมินหรือ สมศ. ต้องมีการพัฒนาบุคลากร ให้มีคุณภาพมีความสามารถและมีใจรักในการประเมิน

2.สมศ. ควรมีมาตรการส่งเสริมเพื่อให้มีการใช้ผลการประเมินในรายงานของ สมศ.ให้คุ้มค่าโดยอาจจำแนกกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากผลการประเมินได้เป็น 5 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ผู้ที่ใช้บริการจากสถานศึกษา ซึ่งได้แก่ ผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษา ที่จะต้องดูผลการประเมินของ สมศ.เพื่อการตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้ลูกหลานและดูว่าโรงเรียนใดเหมาะสมกับตนเอง กลุ่มที่สองคือโรงเรียน ที่ต้องนำผลการประเมินที่บอกว่าโรงเรียนดีหรือไม่ดีในมาตรฐานใดพร้อมคำแนะนำที่ได้รับไปจัดทำแผนปรับปรุงพัฒนาโรงเรียนตามกระบวนการพัฒนาคุณภาพภายใน กลุ่มที่สามคือ ต้นสังกัดของสถานศึกษาซึ่งจะเข้าไปดูว่าโรงเรียนในสังกัดของตนเอง ยังบกพร่องตรงไหนและมีเรื่องใดบ้างที่ต้นสังกัดจะต้องเข้าไปช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุน กลุ่มที่สี่คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย เช่น สภาการศึกษา สำนักงานงบประมาณหรือผู้ที่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษาของชาติได้ ก็ควรต้องนำรายงานผลการประเมินของ สมศ.ไปทบทวน นโยบายการจัดการศึกษาหรือการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษาเป็นต้นและ กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มนักวิจัย นักการศึกษาหรือนักศึกษาที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพก็สามารถนำข้อมูลจาก สมศ.ไปวิเคราะห์หาคำตอบทางการศึกษาในเชิงลึกได้

3.เสริมสร้างภาพลักษณ์การประเมินแบบกัลยาณมิตรที่มีส่วนช่วยในการชี้แนะแนวทางการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา เติมเต็มให้กับสถานศึกษา

4.ส่งเสริมให้สถานศึกษาให้ความสำคัญกับกระบวนการประกันคุณภาพภายในมากกว่าการประเมินภายนอก เพราะการประกันคุณภาพภายในคือการประกันคุณภาพส่วนที่เป็นสมองของสถานศึกษา คนแรกคือผู้เรียนและต่อมาคือครูและผู้บริหารการประเมินที่สำคัญการที่ผู้เรียนประเมินผลการเรียนของตนเอง ครูประเมินผลการสอนของตนเอง และผู้บริหารประเมินผลการบริหารงานของตนเองและจัดทำรายงานการประเมินตนเอง ทั้ง 3 สิ่งนี้รวมกันเรียกว่า การประกันคุณภาพภายใน เป็นการประเมินที่ถูกต้องสำคัญที่สุด ที่ควรจะทำต่อเนื่องสม่ำเสมอถึงเป็นร้อยละ 80 ของการประเมินทั้งหมดการประเมินภายนอกเป็นเพียงอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

5.หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ควรกำหนดดูแลให้ความรู้และคำแนะนำในการจัดรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษาที่ถูกต้องสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ต่อ การประเมินคุณภาพภายนอก

6.ในอนาคต การประกันคุณภาพการศึกษาจะมีผลต่อการเลื่อนวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเกณฑ์ของการเลื่อนวิทยฐานะที่กำลังจะประกาศใช้ในเร็วนี้ เน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นการผูกโยงความก้าวหน้าของครูเข้ากับคุณภาพของเด็ก ซึ่งจะทำให้ครูใส่ใจพัฒนาคุณภาพของเด็กอย่างต่อเนื่อง
ในการประเมินภายนอกกรอบที่สาม ที่จะมีขึ้นในราวปี 2553 นี้มีแนวทางการประเมินเพื่อคงสภาพการพัฒนาของสถานศึกษาให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เสมือนว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินภารกิจตามปกติของสถานศึกษา ที่มีระบบการทำงานตามวงจร PDCA เพื่อคุณภาพของสถานศึกษาและคุณภาพของการศึกษาที่ยั่งยืนของไทย


แหล่งอ้างอิง
อมเรศ ศิลาอ่อน สมศ.ในอีกสิบปีข้างหน้า จุลสารประชาคมประกันคุณภาพการศึกษา ฉบับที่ 5 เดือนเมษายน 2551
คอลัมน์ เกาะติดข่าว สมศ. ประกันภายในเข้มแข็งถ้าประกันภายนอกเข้มข้น หนังสือพิมพ์ คม ชัดลึก ฉบับวันที่ 4 เดือนเมษายน 2548
_______ การประกันคุณภาพ ประเมินเพื่อพัฒนา ไม่ใช่ประเมินเพื่อเก็บขึ้นหิ้งหนังสือพิมพ์ คม ชัดลึก ฉบับวันที่ 21 เดือนพฤษภาคม 2550
_______ การประกันคุณภาพการศึกษากับการเลื่อนวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาหนังสือพิมพ์ คม ชัดลึก ฉบับวันที่ 15 เดือนกันยายน 2551