วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การประเมิน:ความคล้ายคลึงและความแตกต่าง

ผู้เขียน ปาลิตา วงค์โปทา

การประเมิน เป็นกระบวนการที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูล และตัดสินคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด การประเมินมีหลายประเภท เช่น การประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินองค์กร การประเมินบุคลากร การประเมินหลักสูตรและการสอน การประเมินผู้เรียน การประเมินตนเอง เป็นต้น โดยการประเมินแต่ละประเภทมีความคล้ายคลึงและความแตกต่างกันในบางประเด็นดังนี้

ประเด็นที่มีความแตกต่างกันได้แก่

1.เป้าของการประเมิน

-การประเมินนโยบายและแผน เป้าของการประเมินคือ นโยบายและแผน บางครั้งอาจหมายรวมถึง โครงการที่อยู่ในแผนซึ่งมีส่วนต่อความสำเร็จแผนและนโยบาย

-การประเมิน องค์กร เป้าของการประเมิน คือ องค์กรหน่วยงาน เช่น สถาบัน หรือสถานศึกษาเป็นต้น

-การประเมินบุคลากร เป้าของการประเมิน คือ บุคลากร ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติของหน่วยงานหรือองค์กร

-การประเมินหลักสูตรและการสอน เป้าของการประเมิน คือ หลักสูตรและการเรียนการสอน

-การประเมินผู้เรียน เป้าของการประเมิน คือ ผู้เรียน นักเรียน นักศึกษา

-การประเมินตนเอง เป้าของการประเมิน คือหน่วยงานหรือบุคคลนั้นๆทำการประเมินตนเอง

2.จุดมุ่งหมายของการประเมิน

ในการประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินหลักสูตรและการสอนนั้นอาจมีจุดมุ่งหมายของการประเมิน เพื่อตัดสินใจดำเนินงานต่อหรือปรับปรุงหรือยุบเลิกการดำเนินงานหรือการใช้หลักสูตรหรือเพื่อกำหนดนโยบายแผนงานโครงการ และหลักสูตร แต่การประเมินองค์กรและการประเมินบุคลากร นั้น ในปัจจุบันมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การรับรองคุณภาพขององค์กรหรือรับรองคุณภาพ วิทยฐานะของบุคลากรโดยในการประเมินบุคลากรอาจมีจุดมุ่งหมาย อีกประเด็นคือ การประเมินเพื่อเพิ่มทักษะหรือศักยภาพในการทำงานของบุคลากรส่วนการประเมินผู้เรียนนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อตัดสินผลการเรียนเป็นการประเมินความรู้และทักษะที่ผู้เรียนได้เรียนมา เพื่อตัดผลการเรียนได้หรือตก ตัดสินระดับผลการเรียนและในการประเมินตนเองนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติหรือหน่วยงานนั้นๆได้รายงานผลปฏิบัติงานของตนเองในรอบปีที่ผ่านมา ที่มีจุดเด่น จุดด้อยและจุดที่ควรพัฒนาอย่างไรบ้างซึ่งจะใช้ประกอบในการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของหน่วยงาน องค์กร

3. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
การประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินหลักสูตรและการสอน การประเมินองค์กรมักใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์และการบันทึกข้อมูลจากเอกสาร เป็นส่วนใหญ่ในการเก็บรวบรวมข้อมูล แต่ในการประเมินผู้เรียนมักใช้แบบทดสอบในการวัดความรู้และแบบทักษะปฏิบัติในการวัดทักษะของผู้เรียนและนำผลทั้ง 2 ส่วนมาประกอบกับโดยมีการวัดเจตคติหรือความสนใจในสิ่งที่เรียนด้วย การประเมินบุคลากรนั้น เครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่มักเป็น แบบวัดคุณลักษณะในด้านต่างๆของบุคลากรหรือแบบตรวจสอบรายการปฏิบัติหรือการแสดงออกของบุคลากร ส่วนการประเมินตนเองเครื่องมือที่ใช้มักเป็นรูปแบบรายงานผลการปฏิบัติงานตามที่ต้นสังกัดของหน่วยงานนั้นๆ กำหนดขึ้น

4.การใช้ผลการประเมิน
การประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินหลักสูตรและการสอน มักใช้ผลการประเมินในการตัดสินใจกำหนดนโยบายและแผน กำหนดโครงการหรือหลักสูตรการตัดสินใจปรับปรุงการดำเนินงาน หรือตัดสินใจดำเนินการต่อหรือยุบเลิก นโยบายแผนงานโครงการและหลักสูตร การประเมินองค์กร มักใช้ผลการประเมินเพื่อรับรองคุณภาพขององค์กรที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน เช่นการประเมินสถานศึกษา ตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดไว้ในการศึกษาแต่ละประเภท การประเมินบุคลากรและการประเมินตนเองมักใช้ผลการประเมินเพื่อจัดสรรตำแหน่งเปลี่ยนหรือเลื่อนตำแหน่งการพิจารณาให้ความดีความชอบ การคัดเลือกบุคลากรเข้าดำรงตำแหน่งเป็นต้น ส่วนการประเมินผู้เรียนใช้ผลการประเมินเพื่อตัดสินคุณภาพผู้เรียน ตัดสินผลการเรียน ตัดสินผลได้หรือตกและใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน สอนซ่อมเสริมเป็นต้น

5.ผู้ประเมิน
การประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินหลักสูตรและการสอน การประเมินองค์กร ผู้ประเมินอาจเป็นได้ทั้งบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกหรือเป็นบุคคลหรือหน่วยงานภายในที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ประเมินก็ได้ ในการประเมินบุคลากรผู้**หน่วยงานหรือองค์กรที่บุคลากรปฏิบัติงานอยู่หรือมีความต้องการคัดเลือกบุคลากรเข้าปฏิบัติงาน การประเมินผู้เรียนกับผู้ประเมินคือผู้สอน ส่วนการประเมินตนเองผู้ประเมินคือบุคคลคนเดียวกันกับผู้ถูกประเมิน

ประเด็นที่มีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่

1.กระบวนการประเมิน
ในการประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินหลักสูตรและการสอน การประเมินบุคลากร การประเมินองค์กร การประเมินตนเอง การประเมินผู้เรียน มีกระบวนการประเมินที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นกระบวนการที่มีเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อตัดสินคุณค่าของสิ่งที่ถูกประเมินโดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดซึ่งโดยส่วนใหญ่มีกระบวนการ ดังนี้

1.วิเคราะห์ทำความรู้จักกับสิ่งที่ต้องการประเมิน
2.ระบุจุดหมายของการประเมิน
3.กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน
4.กำหนดขอบเขตการประเมิน
5.ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี แบบจำลองการประเมิน ตัวอย่างงานประเมิน

6.ออกแบบประเมินในด้าน – แหล่งข้อมูล ผู้ให้ข้อมูล
- เครื่องมือและวิธีการเก็บข้อมูล
- การวิเคราะห์ข้อมูลและเกณฑ์

7.พัฒนาเครื่องมือ เก็บข้อมูล

8.เก็บรวบรวมข้อมูล

9.วิเคราะห์ข้อมูล

10.สรุปผลการประเมินและรายงาน

2.ช่วงระยะเวลาที่ทำการประเมิน
การประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินหลักสูตรและการสอน การประเมินองค์กร สามารถประเมินได้ก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการและหลังดำเนินการ เช่นเดียวกับการประเมินบุคลากร การประเมินตนเอง สามารถประเมินได้ทั้งก่อนปฏิบัติงาน อีกทั้งการประเมินผู้เรียนก็สามารถประเมินได้ทั้งก่อนเรียน ระหว่างเรียนและหลังเรียน เช่นเดียวกัน

แหล่งอ้างอิง
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประมวลสาระชุดวิชา การประเมินและการจัดการโครงการประเมิน หน่วยที่ 6 – 10 กรุงเทพ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พิมพ์ครั้งที่ 3 2548
________ประมวลสาระชุดวิชา การประเมินและการจัดการโครงการประเมิน หน่วยที่ 11-15 กรุงเทพ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พิมพ์ครั้งที่ 3 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น