วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

แนวโน้มและทิศทางการประกันคุณภาพการศึกษา

ผู้เขียน ปาลิตา วงค์โปทา

ในการดำเนินงานประกันคุณภาพการศึกษาที่ผ่านมาสถานศึกษามีความตื่นตัวในการรับการประเมินเป็นอย่างมาก ทำให้แนวโน้มของการประกันคุณภาพการศึกษามีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นทุกหน่วยงานมีความพยายามปรับปรุงระบบประกันคุณภาพภายในของตนเอง เพื่อแข่งขันในด้านประสิทธิภาพของหน่วยงาน แนวโน้มและทิศทางในการประกันคุณภาพการศึกษา อาจพอสรุปได้ดังนี้

1.ผู้ประเมินหรือ สมศ. ต้องมีการพัฒนาบุคลากร ให้มีคุณภาพมีความสามารถและมีใจรักในการประเมิน

2.สมศ. ควรมีมาตรการส่งเสริมเพื่อให้มีการใช้ผลการประเมินในรายงานของ สมศ.ให้คุ้มค่าโดยอาจจำแนกกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้ประโยชน์จากผลการประเมินได้เป็น 5 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ผู้ที่ใช้บริการจากสถานศึกษา ซึ่งได้แก่ ผู้ปกครองนักเรียน นักศึกษา ที่จะต้องดูผลการประเมินของ สมศ.เพื่อการตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้ลูกหลานและดูว่าโรงเรียนใดเหมาะสมกับตนเอง กลุ่มที่สองคือโรงเรียน ที่ต้องนำผลการประเมินที่บอกว่าโรงเรียนดีหรือไม่ดีในมาตรฐานใดพร้อมคำแนะนำที่ได้รับไปจัดทำแผนปรับปรุงพัฒนาโรงเรียนตามกระบวนการพัฒนาคุณภาพภายใน กลุ่มที่สามคือ ต้นสังกัดของสถานศึกษาซึ่งจะเข้าไปดูว่าโรงเรียนในสังกัดของตนเอง ยังบกพร่องตรงไหนและมีเรื่องใดบ้างที่ต้นสังกัดจะต้องเข้าไปช่วยเหลือส่งเสริมและสนับสนุน กลุ่มที่สี่คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย เช่น สภาการศึกษา สำนักงานงบประมาณหรือผู้ที่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการศึกษาของชาติได้ ก็ควรต้องนำรายงานผลการประเมินของ สมศ.ไปทบทวน นโยบายการจัดการศึกษาหรือการจัดสรรงบประมาณให้แก่สถานศึกษาเป็นต้นและ กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มนักวิจัย นักการศึกษาหรือนักศึกษาที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพก็สามารถนำข้อมูลจาก สมศ.ไปวิเคราะห์หาคำตอบทางการศึกษาในเชิงลึกได้

3.เสริมสร้างภาพลักษณ์การประเมินแบบกัลยาณมิตรที่มีส่วนช่วยในการชี้แนะแนวทางการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา เติมเต็มให้กับสถานศึกษา

4.ส่งเสริมให้สถานศึกษาให้ความสำคัญกับกระบวนการประกันคุณภาพภายในมากกว่าการประเมินภายนอก เพราะการประกันคุณภาพภายในคือการประกันคุณภาพส่วนที่เป็นสมองของสถานศึกษา คนแรกคือผู้เรียนและต่อมาคือครูและผู้บริหารการประเมินที่สำคัญการที่ผู้เรียนประเมินผลการเรียนของตนเอง ครูประเมินผลการสอนของตนเอง และผู้บริหารประเมินผลการบริหารงานของตนเองและจัดทำรายงานการประเมินตนเอง ทั้ง 3 สิ่งนี้รวมกันเรียกว่า การประกันคุณภาพภายใน เป็นการประเมินที่ถูกต้องสำคัญที่สุด ที่ควรจะทำต่อเนื่องสม่ำเสมอถึงเป็นร้อยละ 80 ของการประเมินทั้งหมดการประเมินภายนอกเป็นเพียงอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

5.หน่วยงานต้นสังกัดของสถานศึกษา ควรกำหนดดูแลให้ความรู้และคำแนะนำในการจัดรายงานการประเมินตนเองของสถานศึกษาที่ถูกต้องสมบูรณ์เพื่อประโยชน์ต่อ การประเมินคุณภาพภายนอก

6.ในอนาคต การประกันคุณภาพการศึกษาจะมีผลต่อการเลื่อนวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเกณฑ์ของการเลื่อนวิทยฐานะที่กำลังจะประกาศใช้ในเร็วนี้ เน้นการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการประกันคุณภาพการศึกษาเป็นการผูกโยงความก้าวหน้าของครูเข้ากับคุณภาพของเด็ก ซึ่งจะทำให้ครูใส่ใจพัฒนาคุณภาพของเด็กอย่างต่อเนื่อง
ในการประเมินภายนอกกรอบที่สาม ที่จะมีขึ้นในราวปี 2553 นี้มีแนวทางการประเมินเพื่อคงสภาพการพัฒนาของสถานศึกษาให้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เสมือนว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินภารกิจตามปกติของสถานศึกษา ที่มีระบบการทำงานตามวงจร PDCA เพื่อคุณภาพของสถานศึกษาและคุณภาพของการศึกษาที่ยั่งยืนของไทย


แหล่งอ้างอิง
อมเรศ ศิลาอ่อน สมศ.ในอีกสิบปีข้างหน้า จุลสารประชาคมประกันคุณภาพการศึกษา ฉบับที่ 5 เดือนเมษายน 2551
คอลัมน์ เกาะติดข่าว สมศ. ประกันภายในเข้มแข็งถ้าประกันภายนอกเข้มข้น หนังสือพิมพ์ คม ชัดลึก ฉบับวันที่ 4 เดือนเมษายน 2548
_______ การประกันคุณภาพ ประเมินเพื่อพัฒนา ไม่ใช่ประเมินเพื่อเก็บขึ้นหิ้งหนังสือพิมพ์ คม ชัดลึก ฉบับวันที่ 21 เดือนพฤษภาคม 2550
_______ การประกันคุณภาพการศึกษากับการเลื่อนวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาหนังสือพิมพ์ คม ชัดลึก ฉบับวันที่ 15 เดือนกันยายน 2551

การประกันคุณภาพการศึกษา

ผู้เขียน ปาลิตา วงค์โปทา

การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง การบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรมตามภารกิจปกติขององค์กรหน่วยงานเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง การประกันคุณภาพการศึกษาประกอบด้วยการประกันคุณภาพภายในหรือการประเมินคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอกหรือการประเมินคุณภาพภายนอก

การประกันคุณภาพภายในหรือการประเมินคุณภาพภายใน เป็นกระบวนการที่บุคลากรในองค์กรเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเองเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการประเมินตนเอง หรือการตรวจสอบตนเองเพื่อพัฒนาตนเอง
การประกันคุณภาพภายนอกหรือการประเมินคุณภาพภายนอก เป็นกระบวนการที่บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ถูกประเมินเป็นผู้ดำเนินการประเมินจุดมุ่งหมายของกระบวนการนี้เน้นที่การรับรองของหน่วยงานและให้ข้อมูลที่นำไปสู่การพัฒนาให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

การประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก จึงเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมการพัฒนาองค์กรร่วมกันโดยเน้นการตรวจสอบและพัฒนางานจากมุมมองของบุคคลสองฝ่าย ด้วยวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้ผลการประเมินมีคุณภาพน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
การประกันคุณภาพการศึกษา เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับบริการทางการศึกษา ทั้งผู้รับบริการโดยตรง ได้แก่ผู้เรียนและผู้ปกครองและผู้รับบริการทางอ้อม ได้แก่สถานประกอบการ ประชาชนและสังคมโดยรวม ว่าการดำเนินงานขององค์กร หน่วยงานจะมีประสิทธิภาพและทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนด ทั้งนี้จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่ง มีการประกันและประเมินคุณภาพการศึกษาซึ่งกำหนดให้ต้องมีระบบการประเมินผล สถานศึกษา 2 ระบบ คือระบบการประกันคุณภาพภายในและระบบการประกันคุณภาพภายนอก เพื่อให้การจัดการศึกษานั้นไปตามกฎหมาย หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่จัดการศึกษาต้องมีการวางระบบประเมินผลภายในโดยการประเมินตนเองและจัดทำรายงานผลการประเมินเสนอหน่วยงานต้นสังกัดทุกปีและในทุกๆ 5 ปี ต้องได้รับการประเมินคุณภาพจากองค์กรภายนอก

ในปัจจุบัน การประกันคุณภาพการศึกษา มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์กรมหาชน) เป็นองค์กรที่เข้าไปตรวจสอบผลงานของสถานศึกษาจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาในการดำเนินงานหลายประการ อาจพอสรุปได้ดังนี้

1.ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินภายนอก ผู้ประเมินบางส่วน ขาดความรู้ความสามารถในการประเมิน บางคนไม่เข้าใจลักษณะงานของสถานศึกษา ขาดประสบการณ์ในการชี้แนะวิธีการพัฒนางานของสถานศึกษาทำให้ผู้ถูกประเมินบางส่วนขาดความเชื่อถือ

2.ผู้รับการประเมิน มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการประเมินมักมองว่ามาจับผิดงานที่ทำอยู่หรือกังวลกับผลการประเมินที่จะกระทบการผลงานของตนเองหรือสถานศึกษา

3.ผู้รับการประเมิน ขาดความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในมักมองว่าเป็นเพียงงานพิเศษ นอกเหนือจากงานประจำที่ทำอยู่และเป็นภาระที่หนักนอกเหนือจากการสอนนักเรียน

4.ผู้รับการประเมิน บางส่วนยังไม่เข้าใจวิธีการเรียนรายงานการประเมินตนเองทำให้รายงานขาดสมบูรณ์และเป็นอุปสรรคต่อการประเมินคุณภาพภายนอก

5.สถานศึกษาที่รับการประเมินภายนอก บางแห่งมีจำนวนบุคลากรน้อยและขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานประกันคุณภาพภายใน

6.ผู้รับการประเมินยังขาดความเชื่อมั่นในเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบ รวมข้อมูลซึ่งผู้ประเมินแต่ละกลุ่มมีวิธีการต่างกัน

7.เมื่อสถานศึกษาได้รับผลการประเมินภายนอกแล้วมักเก็บผลการประเมินไว้ ไม่นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาในการกำหนด แผนงานโครงการต่างๆ

แหล่งอ้างอิง
อมเรศ ศิลาอ่อน สมศ.ในอีกสิบปีข้างหน้า จุลสารประชาคมประกันคุณภาพการศึกษา ฉบับที่ 5 เดือนเมษายน 2551
คอลัมน์ เกาะติดข่าว สมศ. ประกันภายในเข้มแข็งถ้าประกันภายนอกเข้มข้น หนังสือพิมพ์ คม ชัดลึก ฉบับวันที่ 4 เดือนเมษายน 2548
_______ การประกันคุณภาพ ประเมินเพื่อพัฒนา ไม่ใช่ประเมินเพื่อเก็บขึ้นหิ้งหนังสือพิมพ์ คม ชัดลึก ฉบับวันที่ 21 เดือนพฤษภาคม 2550
_______ การประกันคุณภาพการศึกษากับการเลื่อนวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาหนังสือพิมพ์ คม ชัดลึก ฉบับวันที่ 15 เดือนกันยายน 2551

การประเมิน:ความคล้ายคลึงและความแตกต่าง

ผู้เขียน ปาลิตา วงค์โปทา

การประเมิน เป็นกระบวนการที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูล และตัดสินคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด การประเมินมีหลายประเภท เช่น การประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินองค์กร การประเมินบุคลากร การประเมินหลักสูตรและการสอน การประเมินผู้เรียน การประเมินตนเอง เป็นต้น โดยการประเมินแต่ละประเภทมีความคล้ายคลึงและความแตกต่างกันในบางประเด็นดังนี้

ประเด็นที่มีความแตกต่างกันได้แก่

1.เป้าของการประเมิน

-การประเมินนโยบายและแผน เป้าของการประเมินคือ นโยบายและแผน บางครั้งอาจหมายรวมถึง โครงการที่อยู่ในแผนซึ่งมีส่วนต่อความสำเร็จแผนและนโยบาย

-การประเมิน องค์กร เป้าของการประเมิน คือ องค์กรหน่วยงาน เช่น สถาบัน หรือสถานศึกษาเป็นต้น

-การประเมินบุคลากร เป้าของการประเมิน คือ บุคลากร ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติของหน่วยงานหรือองค์กร

-การประเมินหลักสูตรและการสอน เป้าของการประเมิน คือ หลักสูตรและการเรียนการสอน

-การประเมินผู้เรียน เป้าของการประเมิน คือ ผู้เรียน นักเรียน นักศึกษา

-การประเมินตนเอง เป้าของการประเมิน คือหน่วยงานหรือบุคคลนั้นๆทำการประเมินตนเอง

2.จุดมุ่งหมายของการประเมิน

ในการประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินหลักสูตรและการสอนนั้นอาจมีจุดมุ่งหมายของการประเมิน เพื่อตัดสินใจดำเนินงานต่อหรือปรับปรุงหรือยุบเลิกการดำเนินงานหรือการใช้หลักสูตรหรือเพื่อกำหนดนโยบายแผนงานโครงการ และหลักสูตร แต่การประเมินองค์กรและการประเมินบุคลากร นั้น ในปัจจุบันมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การรับรองคุณภาพขององค์กรหรือรับรองคุณภาพ วิทยฐานะของบุคลากรโดยในการประเมินบุคลากรอาจมีจุดมุ่งหมาย อีกประเด็นคือ การประเมินเพื่อเพิ่มทักษะหรือศักยภาพในการทำงานของบุคลากรส่วนการประเมินผู้เรียนนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อตัดสินผลการเรียนเป็นการประเมินความรู้และทักษะที่ผู้เรียนได้เรียนมา เพื่อตัดผลการเรียนได้หรือตก ตัดสินระดับผลการเรียนและในการประเมินตนเองนั้นมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ปฏิบัติหรือหน่วยงานนั้นๆได้รายงานผลปฏิบัติงานของตนเองในรอบปีที่ผ่านมา ที่มีจุดเด่น จุดด้อยและจุดที่ควรพัฒนาอย่างไรบ้างซึ่งจะใช้ประกอบในการพิจารณาผลการปฏิบัติงานของหน่วยงาน องค์กร

3. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
การประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินหลักสูตรและการสอน การประเมินองค์กรมักใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์และการบันทึกข้อมูลจากเอกสาร เป็นส่วนใหญ่ในการเก็บรวบรวมข้อมูล แต่ในการประเมินผู้เรียนมักใช้แบบทดสอบในการวัดความรู้และแบบทักษะปฏิบัติในการวัดทักษะของผู้เรียนและนำผลทั้ง 2 ส่วนมาประกอบกับโดยมีการวัดเจตคติหรือความสนใจในสิ่งที่เรียนด้วย การประเมินบุคลากรนั้น เครื่องมือที่ใช้ส่วนใหญ่มักเป็น แบบวัดคุณลักษณะในด้านต่างๆของบุคลากรหรือแบบตรวจสอบรายการปฏิบัติหรือการแสดงออกของบุคลากร ส่วนการประเมินตนเองเครื่องมือที่ใช้มักเป็นรูปแบบรายงานผลการปฏิบัติงานตามที่ต้นสังกัดของหน่วยงานนั้นๆ กำหนดขึ้น

4.การใช้ผลการประเมิน
การประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินหลักสูตรและการสอน มักใช้ผลการประเมินในการตัดสินใจกำหนดนโยบายและแผน กำหนดโครงการหรือหลักสูตรการตัดสินใจปรับปรุงการดำเนินงาน หรือตัดสินใจดำเนินการต่อหรือยุบเลิก นโยบายแผนงานโครงการและหลักสูตร การประเมินองค์กร มักใช้ผลการประเมินเพื่อรับรองคุณภาพขององค์กรที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน เช่นการประเมินสถานศึกษา ตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดไว้ในการศึกษาแต่ละประเภท การประเมินบุคลากรและการประเมินตนเองมักใช้ผลการประเมินเพื่อจัดสรรตำแหน่งเปลี่ยนหรือเลื่อนตำแหน่งการพิจารณาให้ความดีความชอบ การคัดเลือกบุคลากรเข้าดำรงตำแหน่งเป็นต้น ส่วนการประเมินผู้เรียนใช้ผลการประเมินเพื่อตัดสินคุณภาพผู้เรียน ตัดสินผลการเรียน ตัดสินผลได้หรือตกและใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน สอนซ่อมเสริมเป็นต้น

5.ผู้ประเมิน
การประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินหลักสูตรและการสอน การประเมินองค์กร ผู้ประเมินอาจเป็นได้ทั้งบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกหรือเป็นบุคคลหรือหน่วยงานภายในที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ประเมินก็ได้ ในการประเมินบุคลากรผู้**หน่วยงานหรือองค์กรที่บุคลากรปฏิบัติงานอยู่หรือมีความต้องการคัดเลือกบุคลากรเข้าปฏิบัติงาน การประเมินผู้เรียนกับผู้ประเมินคือผู้สอน ส่วนการประเมินตนเองผู้ประเมินคือบุคคลคนเดียวกันกับผู้ถูกประเมิน

ประเด็นที่มีความคล้ายคลึงกัน ได้แก่

1.กระบวนการประเมิน
ในการประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินหลักสูตรและการสอน การประเมินบุคลากร การประเมินองค์กร การประเมินตนเอง การประเมินผู้เรียน มีกระบวนการประเมินที่คล้ายคลึงกัน คือเป็นกระบวนการที่มีเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อตัดสินคุณค่าของสิ่งที่ถูกประเมินโดยเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดซึ่งโดยส่วนใหญ่มีกระบวนการ ดังนี้

1.วิเคราะห์ทำความรู้จักกับสิ่งที่ต้องการประเมิน
2.ระบุจุดหมายของการประเมิน
3.กำหนดวัตถุประสงค์ของการประเมิน
4.กำหนดขอบเขตการประเมิน
5.ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี แบบจำลองการประเมิน ตัวอย่างงานประเมิน

6.ออกแบบประเมินในด้าน – แหล่งข้อมูล ผู้ให้ข้อมูล
- เครื่องมือและวิธีการเก็บข้อมูล
- การวิเคราะห์ข้อมูลและเกณฑ์

7.พัฒนาเครื่องมือ เก็บข้อมูล

8.เก็บรวบรวมข้อมูล

9.วิเคราะห์ข้อมูล

10.สรุปผลการประเมินและรายงาน

2.ช่วงระยะเวลาที่ทำการประเมิน
การประเมินนโยบายและแผน การประเมินโครงการ การประเมินหลักสูตรและการสอน การประเมินองค์กร สามารถประเมินได้ก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการและหลังดำเนินการ เช่นเดียวกับการประเมินบุคลากร การประเมินตนเอง สามารถประเมินได้ทั้งก่อนปฏิบัติงาน อีกทั้งการประเมินผู้เรียนก็สามารถประเมินได้ทั้งก่อนเรียน ระหว่างเรียนและหลังเรียน เช่นเดียวกัน

แหล่งอ้างอิง
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ประมวลสาระชุดวิชา การประเมินและการจัดการโครงการประเมิน หน่วยที่ 6 – 10 กรุงเทพ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พิมพ์ครั้งที่ 3 2548
________ประมวลสาระชุดวิชา การประเมินและการจัดการโครงการประเมิน หน่วยที่ 11-15 กรุงเทพ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช พิมพ์ครั้งที่ 3 2548

แนวโน้มและทิศทางของการประเมิน

ผู้เขียน ปาลิตา วงค์โปทา

ในปัจจุบันงานวิจัยและการประเมินมีบทบาทในการบริหารงานขององค์กรและหน่วยงานต่างๆของไทยเพิ่มมากขึ้น มีการใช้ประโยชน์จากการวิจัยหรือการประเมินในการวางแผนพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงาน เพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของหน่วยงาน องค์กรมากขึ้น โดยในต่างประเทศได้มีการพัฒนาในเรื่องงานวิจัยและการประเมินมานานแล้ว จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า บทบาทของการประเมินในอนาคต น่าจะเป็นเช่นนี้

-การประเมินจะเป็นกิจกรรมปกติในทุกโครงการ ทุกงาน / ทุกโครงการจะต้องมีการสรุป ประเมินผลเมื่อสิ้นปี

-ฝ่ายต่างๆจะต้องสรุปประเมินผลการทำงานในรอบปีอย่างจริงจังมากขึ้น

-บุคคลจะต้องสรุปผลงานในรอบปี / รายงานผลการปฏิบัติงานในรอบปีอย่างจริงจังมากขึ้น

-นำผลการรายงานซึ่งได้จากการตรวจเยี่ยมและประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษามาเชื่อมโยงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา

แหล่งอ้างอิง
พันธ์ศักดิ์ พลสารัมย์ รายงานการวิจัยเรื่อง การศึกษาแนวโน้มเพื่อการวิจัยและพัฒนาการศึกษาสำหรับอนาคต กรุงเทพ ฯ: พริกหวานกราฟฟิค 2549.
http://www.thaihed.com/dbweb/download/01Jun200616-download-01t (วันที่ 19 กรกฎาคม 2552)
http://www.onec.go.th/publication/49044/full49044.pdf (วันที่ 19 กรกฎาคม 2552)