วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การประกันคุณภาพการศึกษา

ผู้เขียน ปาลิตา วงค์โปทา

การประกันคุณภาพการศึกษา หมายถึง การบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรมตามภารกิจปกติขององค์กรหน่วยงานเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง การประกันคุณภาพการศึกษาประกอบด้วยการประกันคุณภาพภายในหรือการประเมินคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอกหรือการประเมินคุณภาพภายนอก

การประกันคุณภาพภายในหรือการประเมินคุณภาพภายใน เป็นกระบวนการที่บุคลากรในองค์กรเป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเองเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการประเมินตนเอง หรือการตรวจสอบตนเองเพื่อพัฒนาตนเอง
การประกันคุณภาพภายนอกหรือการประเมินคุณภาพภายนอก เป็นกระบวนการที่บุคคลภายนอกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่ถูกประเมินเป็นผู้ดำเนินการประเมินจุดมุ่งหมายของกระบวนการนี้เน้นที่การรับรองของหน่วยงานและให้ข้อมูลที่นำไปสู่การพัฒนาให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น

การประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก จึงเป็นกระบวนการที่ส่งเสริมการพัฒนาองค์กรร่วมกันโดยเน้นการตรวจสอบและพัฒนางานจากมุมมองของบุคคลสองฝ่าย ด้วยวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้ผลการประเมินมีคุณภาพน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
การประกันคุณภาพการศึกษา เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับบริการทางการศึกษา ทั้งผู้รับบริการโดยตรง ได้แก่ผู้เรียนและผู้ปกครองและผู้รับบริการทางอ้อม ได้แก่สถานประกอบการ ประชาชนและสังคมโดยรวม ว่าการดำเนินงานขององค์กร หน่วยงานจะมีประสิทธิภาพและทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนด ทั้งนี้จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่ง มีการประกันและประเมินคุณภาพการศึกษาซึ่งกำหนดให้ต้องมีระบบการประเมินผล สถานศึกษา 2 ระบบ คือระบบการประกันคุณภาพภายในและระบบการประกันคุณภาพภายนอก เพื่อให้การจัดการศึกษานั้นไปตามกฎหมาย หน่วยงานต่างๆ ที่มีหน้าที่จัดการศึกษาต้องมีการวางระบบประเมินผลภายในโดยการประเมินตนเองและจัดทำรายงานผลการประเมินเสนอหน่วยงานต้นสังกัดทุกปีและในทุกๆ 5 ปี ต้องได้รับการประเมินคุณภาพจากองค์กรภายนอก

ในปัจจุบัน การประกันคุณภาพการศึกษา มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์กรมหาชน) เป็นองค์กรที่เข้าไปตรวจสอบผลงานของสถานศึกษาจากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหาในการดำเนินงานหลายประการ อาจพอสรุปได้ดังนี้

1.ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินภายนอก ผู้ประเมินบางส่วน ขาดความรู้ความสามารถในการประเมิน บางคนไม่เข้าใจลักษณะงานของสถานศึกษา ขาดประสบการณ์ในการชี้แนะวิธีการพัฒนางานของสถานศึกษาทำให้ผู้ถูกประเมินบางส่วนขาดความเชื่อถือ

2.ผู้รับการประเมิน มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการประเมินมักมองว่ามาจับผิดงานที่ทำอยู่หรือกังวลกับผลการประเมินที่จะกระทบการผลงานของตนเองหรือสถานศึกษา

3.ผู้รับการประเมิน ขาดความรู้ ความเข้าใจในการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในมักมองว่าเป็นเพียงงานพิเศษ นอกเหนือจากงานประจำที่ทำอยู่และเป็นภาระที่หนักนอกเหนือจากการสอนนักเรียน

4.ผู้รับการประเมิน บางส่วนยังไม่เข้าใจวิธีการเรียนรายงานการประเมินตนเองทำให้รายงานขาดสมบูรณ์และเป็นอุปสรรคต่อการประเมินคุณภาพภายนอก

5.สถานศึกษาที่รับการประเมินภายนอก บางแห่งมีจำนวนบุคลากรน้อยและขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานประกันคุณภาพภายใน

6.ผู้รับการประเมินยังขาดความเชื่อมั่นในเครื่องมือและวิธีการเก็บรวบ รวมข้อมูลซึ่งผู้ประเมินแต่ละกลุ่มมีวิธีการต่างกัน

7.เมื่อสถานศึกษาได้รับผลการประเมินภายนอกแล้วมักเก็บผลการประเมินไว้ ไม่นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาในการกำหนด แผนงานโครงการต่างๆ

แหล่งอ้างอิง
อมเรศ ศิลาอ่อน สมศ.ในอีกสิบปีข้างหน้า จุลสารประชาคมประกันคุณภาพการศึกษา ฉบับที่ 5 เดือนเมษายน 2551
คอลัมน์ เกาะติดข่าว สมศ. ประกันภายในเข้มแข็งถ้าประกันภายนอกเข้มข้น หนังสือพิมพ์ คม ชัดลึก ฉบับวันที่ 4 เดือนเมษายน 2548
_______ การประกันคุณภาพ ประเมินเพื่อพัฒนา ไม่ใช่ประเมินเพื่อเก็บขึ้นหิ้งหนังสือพิมพ์ คม ชัดลึก ฉบับวันที่ 21 เดือนพฤษภาคม 2550
_______ การประกันคุณภาพการศึกษากับการเลื่อนวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษาหนังสือพิมพ์ คม ชัดลึก ฉบับวันที่ 15 เดือนกันยายน 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น